ศาสนพิธีเบื้องต้น

ศาสนพิธี,พิธีชาวพุทธ,พิธีทำบุญ,พิธีตักบาตร,พิธีสงฆ์

๑. ศาสนพิธีเบื้องต้น

๑. วิธีแสดงความเคารพ
๒. วิธีประเคนของพระ
๓. วิธีทำหนังสืออาราธนา และทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย
๔. วิธีอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร อาราธนาธรรม
๕. วิธีกรวดน้ำ
๑. วิธีแสดงความเคารพพระ
ความมุ่งหมายของการแสดงความเคารพพระ ก็เพื่อแสดงให้ปรากฏว่า ตนมีความนับถือ ด้วยกายและใจจริง การแสดงให้ปรากฏนี้ส่วนใหญ่แสดงออกทางกาย ซึ่งส่อซึ้งถึงน้ำใจอย่างเด่นชัด พระที่ควรแก่การแสดงความเคารพ ได้แก่
• พระพุทธรูปหรือปูชนียวัตถุ มีพระสถูปเจดีย์ เป็นต้น ๑
• พระภิกษุสามเณรผู้ทรง เพศอุดมกว่าตน ๑
การแสดงความเคารพต่อพระดังกล่าวนี้ จะนำมาชี้แจงในที่นี้เพียง ๓ วิธี คือ
ก. ประนมมือ
ข. ไหว้
ค. กราบ
ประนมมือ ตรงกับหลักที่กล่าวไว้ในบาลีว่า “ทำอัญชลี” คือ การกระพุ่มมือทั้งสอง ประนม ให้ฝ่ามือทั้งสองประกบกัน นิ้วทุกนิ้วของมือทั้งสองแนบชิดตรงกัน ไม่มีเหลื่อมล้ำกว่ากัน หรือกางให้ห่าง ตั้งกระพุ่มมือ ที่ประนมด้วยอาการนี้ไว้ในระหว่างอก ให้ตั้งตรงขึ้นข้างบน มีลักษณะ คล้ายดอกบัวตูม แนบศอกทั้งสองข้าง ชิดชายโครง ไม่ให้กางห่างออกไป แสดงอาการอย่างนี้ เรียกว่าประนมมือ เป็นการแสดง ความเคารพ เวลาสวดมนต์ หรือฟังพระสวดและฟังเทศน์ เป็นต้น แสดงอย่างเดียวกันทั้งชายทั้งหญิง
ไหว้ ตรงกับที่กล่าวไว้ในบาลีว่า “นมัสการ” หรือ “วันทา” คือการยกมือที่ประนม แล้วขึ้น พร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อย ให้มือประนมจดหน้าผาก นิ้วหัวแม่มือ ทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้ว อย่างนี้เรียกว่า ไหว้ ใช้แสดงความเคารพพระ ในขณะนั่งเก้าอี้ หรือยืนอยู่ ไม่ใช่นั่งราบกับพื้น แสดงอย่างเดียวกันทั้งชายและหญิง

๒.วิธีประเคนของพระ
การประเคนของพระ คือ การถวายของให้พระได้รับถึงมือ ของที่ประเคนนั้น ต้องเป็น ของที่คนเดียวพอยกได้อย่างธรรมดา ไม่ใช่ของหนัก หรือใหญ่โตจนเกินไป ไม่มีวัตถุอนามาส คือ เงินทอง หรือของกะไหล่ด้วยเงินแท้หรือทองแท้ปนอยู่ด้วย เพราะเป็นของไม่เหมาะแก่ภาวะ ของพระที่จะรับได้ และถ้าเป็นของเคี้ยวของฉัน ต้องประเคนได้เฉพาะในกาล เวลาวิกาลตั้งแต่ เที่ยงแล้วไปจนถึงย่ำรุ่งวันใหม่ไม่ควรนำมาประเคนวิธีประเคนนั้นพึงปฏิบัติดังนี้
ก. พึงนำของประเคนเข้าไปให้ใกล้พระผู้รับ ประมาณ ๑ ศอก (ไม่ถึงศอก หรือไม่ เกินศอกคืบก็ได้)จะนั่งหรือยืนแล้วแต่สถานที่ที่พระนั่งอยู่นั้นอำนวย
ข. จับของที่ประเคนด้วยมือทั้งสองก็ได้ มือเดียวก็ได้ ยกให้สูงขึ้นเล็กน้อย แล้วน้อม ถวายพระซึ่งท่านจะยื่นมือทั้งสองออกมาจับ ถ้าผู้ถวายเป็นสตรี พึงวางของลงบนผ้ากราบ ที่พระปูรับอยู่ข้างหน้า เสร็จแล้วพึงไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณีหนหนึ่ง หลักสำคัญของการประเคนนี้ต้องแสดง
ออกด้วยความเคารพไม่ใช่เสือกไสหรือทิ้งให้โดยไม่เคารพ

๓. วิธีทำหนังสืออาราธนาและทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย
การอาราธนาพระก็คือการนิมนต์พระสงฆ์ไปประกอบพิธีต่างๆต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะ แต่ปางก่อนใช้อาราธนาด้วยวาจาเป็นพื้น แต่ในปัจจุบันนี้มีนิยม ทำหนังสืออาราธนา ความมุ่งหมายก็เพื่อแจ้งกำหนดงานและรายการให้พระสงฆ์ทราบ หนังสืออาราธนานี้ เรียกกันว่า ฎีกานิมนต์พระมีข้อความที่จะแสดงเป็นตัวอย่างดังนี้

ขออาราธนาพระคุณเจ้า (พร้อมด้วยพระสงฆ์ในวัดนี้อีก…รูป) เจริญพระพุทธมนต์ (หรือสวดพระพุทธมนต์ หรือแสดงพระธรรมเทศนาแล้วแต่กรณี) ในงาน…..ที่บ้านเลขที่….. ตำบล…..อำเภอ……กำหนดวันที่…..เดือน……พ.ศ…….เวลา…..น.(หากจะอาราธนาให้รับอาหารบิณฑบาต เช้า หรือเพลให้บอกด้วยถ้าต้องการตักบาตรหรือปิ่นโตก็ต้องบอกไว้ในฎีกาให้นำไปด้วย)

ถ้างานนั้นมีเรือหรือรถรับส่ง ก็ให้หมายเหตุบอกไว้ท้ายฎีกานั้น เพื่อพระจะได้ทราบ ล่วงหน้า การวางฎีกานิมนต์พระนี้ ถ้าเป็นพระวัดเดียวกัน ไม่ต้องทำฎีกานิมนต์ เป็นรายองค์ ก็ได้ เป็นแต่ระบุจำนวนพระหรือรายชื่อพระที่ต้องการให้ทางวัดจัดนิมนต์ต่อให้ก็ได้ และในการถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ ที่นิมนต์มาประกอบพิธีต่าง ๆก็มีนิยมถวายค่าจตุปัจจัยเป็นพิเศษ จากไทยธรรมอีกส่วนหนึ่งด้วย ในการถวายค่าจตุปัจจัยนี้ นิยมทำใบปวารณา ถวาย คือ ถวายด้วยใบปวารณา ความมุ่งหมายก็เพื่อสงเคราะห์ ให้ภิกษุได้รับค่าจตุปัจจัยนั้น โดยชอบด้วยวินัย ใบปวารณานี้มีแบบนิยมเป็นฉบับดังนี้
“ขอถวายจตุปัจจัยอันควรแก่สมณบริโภค แด่พระคุณเจ้าเป็น มูลค่า…..บาท ….สต. หากพระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใดอันควรแก่สมณบริโภคแล้ว ขอได้โปรดเรียกร้องจากกัปปิยการก ผู้ปฏิบัติของพระคุณเจ้าเทอญ”

ใบปวารณานี้ นิยมกลัดติดกับผ้าที่ทอดในงานอวมงคล หรือถวายเฉพาะใบ หรือไม่ ก็ใส่ซองแล้วรวมถวายไปกับเครื่องไทยธรรมในทุกๆงาน ส่วนเงินค่าจตุปัจจัยนั้น มอบไปกับ กัปปิยการกคือศิษย์ผู้มากับพระนั้น

๔.วิธีอาราธนาศีลอาราธนาพระปริตร
อาราธนาธรรมการอาราธนา คือ การเชื้อเชิญพระสงฆ์ในพิธีให้ศีล ให้สวดพระปริตร หรือให้แสดงธรรมเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ดั้งเดิมที่จะต้องอาราธนาก่อนพระสงฆ์จึงจะประกอบพิธีกรรมนั้นๆและการอาราธนาที่ถือเป็นธรรมเนียมกันมาก็มี ๓ กรณีเท่านั้น
วิธีอาราธนา นิยมกันว่า ถ้าพระสงฆ์นั่งบนอาสนะยกสูงเจ้าภาพและแขกนั่งเก้าอี้ ผู้อาราธนาเข้าไปยืนระหว่างเจ้าภาพกับแถวพระสงฆ์ตรงกับรูปที่ ๓ หรือที่ ๔ ห่างแถวพระสงฆ์ พอสมควรหันหน้าไปทางโต๊ะที่บูชา ประนมมือไหว้พระพุทธรูปก่อนแล้วยืนประนมมือตั้งตัวตรง กล่าวคำอาราธนาตามแบบที่ต้องการ ถ้าพระสงฆ์นั่งอาสนะ ต่ำธรรมดา เจ้าภาพและแขกอื่น ก็นั่งกับพื้น ผู้อาราธนาต้องเข้าไปนั่งคุกเข่าต่อหน้าแถว พระสงฆ์ตรงหัวหน้า กราบพระที่โต๊ะบูชา ๓ ครั้งก่อน แล้วประนมมือตั้งตัวตรง กล่าวคำอาราธนาที่ต้องการตามแบบ คือ พิธีสวดมนต์เย็น อาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร

พิธีเลี้ยงพระ อาราธนาศีล
พิธีถวายทานทุกอย่าง อาราธนาศีล
พิธีเทศน์ ถ้าเทศน์ต่อจากสวดมนต์ ตอนสวดมนต์ไม่ต้องอาราธนาศีล เริ่มต้นด้วย อาราธนาพระปริตร แล้วอาราธนาศีล ตอนพระขึ้นเทศน์ รับศีลแล้วอาราธนาธรรมต่อ แต่ถ้า สวดมนต์กับเทศน์ไม่ได้ต่อเนื่องกัน ถือว่าเป็นคนละพิธี ตอนสวดมนต์ก็อาราธนา ตามแบบ พิธีสวดมนต์เย็นที่กล่าวแล้ว ตอนเทศน์ก็เริ่มต้น ด้วยอาราธนาศีลก่อน จบรับศีลแล้วจึงอาราธนาธรรม
๕. วิธีกรวดน้ำ
เมื่อจะกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนบุญ ต้องคำนึงถึงประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลด้วยวิธีนิยม ทำกันดังนี้ คือ เริ่มต้นเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะไว้พอสมควร จะเป็นคณฑี ขวดเล็ก แก้วน้ำ หรือขัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ พอพระสงฆ์เริ่ม อนุโมทนาด้วยบท ยถา… ก็เริ่มกรวดน้ำ โดยตั้งใจ นึกอุทิศส่วนบุญ มือขวาจับ ภาชนะน้ำริน ใช้มือซ้ายประคอง แล้วว่าบทกรวดน้ำในใจไปจนจบ การหลั่งน้ำกรวด ถ้าเป็นพื้นดินควรหลั่งลงในที่สะอาดหมดจด ถ้าอยู่บนเรือนหรือสถานที่ ที่ไม่ใช่พื้นดิน ต้องหาภาชนะอื่นที่สมควร เช่น ถาดหรือขัน เป็นต้น รองน้ำกรวดไว้เสร็จแล้วจึงนำไป เทลงดินตรงที่สะอาด อย่าใช้กระโถนหรือภาชนะสกปรกรองเป็นอันขาด เพราะน้ำที่กรวดเป็น สักขีพยานในการทำบุญของตนว่าทำด้วยใจสะอาดจริงๆ

คำกรวดน้ำที่นิยมว่ากันในเวลากรวดทั่ว ๆ ไป มีอยู่ ๓ แบบ คื
แบบสั้น แบบย่อ และแบบยาวว่าเฉพาะคำบาลีเท่านั้น (ในที้มีเฉพาะแบบสั้นเท่านั้น) ดังนี้

คำกรวดน้ำแบบสั้น (คำอุทิศของพระเจ้าพิมพิสาร)
อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ (ว่า ๓ จบ)
หากจะเติมพุทธภาษิตต่อว่า
“สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” ก็ได้ คำแปล
ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด”ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด”

คำกรวดน้ำแบบย่อ เรียกคาถาติโลกวิชัย
ยงฺกิญฺจิ กุสลํ กมฺมํ กตฺตพฺพํ กิริยํ มม
กาเยน วาจามนสา ติทเส สุคตํ กตํ
เย สตฺตา สญฺญิโน อตฺถิ เย จ สตฺตา อสญฺญิโน
กตํ ปุญฺญผลํ มยฺหํ สพฺเพ ภาคี ภวนฺตุ เต
เย ตํ กตํ สุวิทิตํ ทินฺนํ ปุญฺญผลํ มยา
เย จ ตตฺถ น ชานนฺติ เทวา คนฺตฺวา นิเวทยุง
สพฺเพ โลกมฺหิ เย สตฺตา ชีวนฺตาหารเหตุกา
มนุญฺญโภชนํ สพฺเพ ลภนฺตุ มม เจตสา.

คำแปล
กุศลกรรมซึ่งเป็นกิริยาควรทำอันหนึ่งด้วยกายวาจาใจ อันจะเป็นเหตุนำไปให้เกิดใน สวรรค์ชั้นไตรทศเทพ ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ขอสัตว์ซึ่งมีสัญญา และไม่มี สัญญาทุกหมู่เหล่า จงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วนั้น เหล่าสัตว์ที่รู้ผลบุญอันที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว ขอจงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้าอุทิศให้ ในบรรดาสรรพสัตว์จำพวกใด ไม่รู้ข่าวถึง บุญข้าพเจ้ากระทำแล้ว ขอเทพยดาทั้งหลายจงนำไปบอกแก่สัตว์จำพวกนั้น ขอสัตว์ทุกหมู่ ในชีวโลก ซึ่งเสพอาหารเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ จงได้เสวยซึ่งโภชนะอันพึงใจ ด้วยอำนาจเจตนา อุทิศของ ข้าพเจ้านี้เถิด ฯ

Facebook Comments Box