เศรษฐกิจซบเซา คนไทยแห่ทำบุญขอพรพุ่งแรง เงินสะพัดกว่า 10,800 ล้านบาท

แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจซบเซา แต่หัวใจคนไทยยังไม่หมดความหวัง ไปทำบุญขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามศาสนา เพื่อโชคลาภ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โพลพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยผลสำรวจ พฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทุกอำเภอรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,904 คน ผลพบว่า ไหว้พระขอพรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต เป็นอับดับ 1 ร้อยละ 42.42
.
รองลงมา ขอเรื่องโชคลาภเงินทอง ร้อยละ 29.64 , ขอเรื่องธุรกิจการงาน ร้อยละ 10.95 , ขอเรื่องสุขภาพ ร้อยละ 8.74 , ขอเรื่องความรัก ครอบครัว ร้อยละ 5.90 และการเรียนการศึกษา ร้อยละ 2.34 ตามลำดับ
.
ในส่วนของเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำบุญในแต่ละสถานที่พบว่า มากที่สุดโดยเฉลี่ย 100 – 200 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการบริจาคตู้ทำบุญ เป็นอับดับ 1 ร้อยละ 47.58
.
รองลงมา การถวายสังฆทาน ร้อยละ 39.46 , บูชาเครื่องรางของขลัง ร้อยละ 5.59 , สะเดาะเคราะห์ ร้อยละ 5.10 และเสี่ยงทาย เช่น เซียมซี ยกพระเสี่ยงทาย ร้อยละ 2.28 ตามลำดับ
.
การทำบุญไหว้พระนี้ ทำให้เกิดรายได้กับคนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย เช่น ร้านดูดวง ดูลายมือ ร้านอุปกรณ์สังฆทาน ร้านเช่าพระ ร้านอาหารในพื้นที่ บริการขนส่ง และยังส่งผลต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทการบินไทย สร้างแคมเปญ บินรับมงคลบนฟากฟ้า สวดมนต์ สักการะบินวนไม่ลงจอด 99 วัด
.
ซึ่งสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดการว่าการเดินทางไปทำบุญไหว้พระ จะสามารถสร้างรายได้มีเงินหมุนเวียนในระบบ เงินสะพัด 10,800 ล้านบาท คิดเป็น 0.36% ของมูลค่าท่องเที่ยวไทย
.
จากที่กล่าวมา ทำให้เห็นว่ากิจกรรมการทำบุญไหว้พระ เป็นวิถีของคนไทยที่มีความสำคัญ อยู่คู่กับคนไทยไปทั่วทั้งประเทศ ทั้งยังสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว และช่วยกระจายรายได้ให้คนในพื้นที่ได้อีกมาก ทำให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นฟูได้อีกครั้ง ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำลังมองหาโอกาส เพื่อนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจได้
Facebook Comments Box