คิดบวก
การตั้งเป้าหมาย ส่งทุกความคิดเหห็นได้ที่ ติดต่อ ทัต ณ ฝั่งโขง บนเฟชบุค
เกี่ยวกับเว็บไซต์คิดบวก หมวดหมู่บทความคิดบวก ข่าวประชาสัมพันธ์ ธรรมะ,ข้อคิด,ท่าน ว.วชิรเมธี, ติดต่อทีมงานคิดบวก
 
 
ค้นหาข้อมูลที่ต้องการ>>
Loading
 

สูตรสร้างงาน...สู้ไม่ถอย

เรื่องราวของคนถูกเลิกจ้าง หรือโบกมือลาจากงานประจำ เพื่อสร้างงานใหม่ด้วยตัวเอง เป็นวัฎจักรอย่างหนึ่งในชีวิตที่หลายคนต้องเรียนรู้....
 

ชีวิตการทำงานของหลายคนอาจต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง และบางคนอาจหลายครั้ง 
การเริ่มต้นใหม่ของหลายคน อาจมีต้นทุนในชีวิตแล้ว ไม่ว่าต้นทุนความคิด ประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ดังนั้นเมื่อคิดจะสร้างงานใหม่ด้วยตัวเอง แม้จะเป็นเรื่องยากลำบากที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ แต่เมื่อสร้างได้แล้ว รากฐานก็จะมีความมั่นคง และสิ่งเหล่านี้คือ ความท้าทายที่ต้องใช้ทั้งมันสมองและสองมือ

เริ่มต้นใหม่
“หลังจากถูกเลิกจ้างจากบริษัทใหญ่ไทรอัมพ์ ที่ผู้บริหารให้เหตุผลว่า ต้องปรับโครงสร้าง จึงต้องเลิกจ้างคนงาน เราก็มีข้อเรียกร้องเดินขบวนอยู่หลายเดือน เพราะพวกเราเดือดร้อน แต่เมื่อประท้วงแล้ว ก็ไม่มีผลตอบรับใดๆ ในกลุ่มเพื่อนก็เลยช่วยกันคิดว่า พวกเราก็มีความเชี่ยวชาญเย็บชุดชั้นในได้ น่าจะเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงตัวเองได้ เราก็เลยอยากทำให้คนเห็นว่า เราก็มีฝีมือเหมือนกัน จึงรวมกลุ่มกันทำผลิตภัณฑ์”

 

“หลักๆ เลยคือ ไม่รับเงินบริจาค ใครต้องการสนับสนุนเรา ก็ซื้อสินค้าของพวกเราไปใช้ ถ้าดีก็ช่วยบอกต่อ ถ้าไม่ดีพวกเราก็จะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ตอนนี้สินค้าของเรา แม้จะขายไม่มาก แต่ก็นำไปขายถึงสวีเดนและสวิสเซอร์แลนด์ “ นิภา มัจฉาชาติ หนึ่งในกลุ่ม Try Arm คนงานที่ถูกเลิกจ้าง และหันมาสร้างงานด้วยตัวเองร่วมกับเพื่อนๆ เล่าถึงการเริ่มต้นใหม่ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ด้วยพื้นฐานความเชี่ยวชาญด้านการเย็บชุดชั้นใน และทำงานโรงงานมานานกว่า 20 ปี เธอแทบจะนึกไม่ออกเลยว่า ถ้าออกมาทำกิจการด้วยตัวเองกับเพื่อนๆ ต้องทำอะไรบ้าง สิ่งแรกๆ ที่เธอทำ ก็คือ การเรียนรู้ในเรื่องที่ไม่คุ้นเคย ทั้งระบบการตลาด การเงิน และการบริหาร โดยอาศัยต้นทุนเดิมที่มีอยู่คือ ความเชี่ยวชาญด้านการผลิต และความสมัครสมานร่วมแรงร่วมใจสร้างผลิตภัณฑ์

ฝีมือในเรื่องการเย็บผ้า คือต้นทุนที่พวกเธอมั่นใจว่าจะเลี้ยงชีพต่อไปได้ ส่วนเรื่องที่ไม่มั่นใจ คือ การจัดการเรื่องอื่นๆ 
นิภา บอกว่า จากที่เราทำงานสหภาพแรงงานมานาน เราก็ได้เรียนรู้ เมื่อเริ่มทำธุรกิจ เราก็พยายามปรับปรุงการผลิตกางเกงใน ชุดชั้นใน จนทำได้เข้าที่เข้าทาง การบริหารงานเราใช้ระบบปรึกษาหารือ ส่วนเรื่องการตลาดก็ปรึกษาผู้รู้

“ตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าจะทำธุรกิจได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เราไม่ถอย แม้จะมีอุปสรรคเยอะ ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ แต่เราทำแบบค่อยเป็นค่อยไป พยายามเรียนรู้ระบบ และสิ่งที่ยากสำหรับเราก็คือการตลาด เรื่องฝีมือเราไม่ห่วงเลย ตอนนี้มีผู้ร่วมงานอยู่ 12 คน พวกเรามีประสบการณ์การทำงานในโรงงานไทรอัมพ์กว่า 20 ปี เราก็มาคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้สินค้าขายได้ เราก็ใช้เครื่องมือโฆษณาผ่านเวบไซต์ จำหน่ายในกลุ่มเครือข่ายสหภาพแรงงาน และขายตามงานต่างๆ แต่เราต้องทำให้สินค้ามีคุณภาพก่อน”

เพราะกล้าที่จะลองผิดลองถูกและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง นิภา ย้ำว่า ที่สำคัญ...อย่ารับเงินบริจาค เราไม่อยากให้คนซื้อสินค้าเพราะความสงสาร และการรับเงินบริจาคแบบนั้นจะทำให้เราไม่อยากทำงาน

นั่นเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้สินค้า Try Arm และเรื่องราวของอดีตสาวโรงงานกลายเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากขึ้น แม้พวกเธอจะมีรายได้ไม่มากเหมือนทำงานโรงงาน นิภาบอกว่า พวกเรามีเงินปันผลเท่ากัน เพราะเราวางระบบว่า ทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ แม้ที่ผ่านมาจะขยายงานได้ยากลำบาก แต่พวกเราช่วยกันทำ และตอนนี้พวกเราต้องการคนงานมาร่วมงานเพิ่ม วางไว้ว่าจะจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 320 บาท
“สิ่งสำคัญในการเริ่มต้นใหม่คือ ต้องเชื่อใจซึ่งกันและกัน และทำสินค้าออกมาให้มีคุณภาพ” นิภา ย้ำอีกครั้ง

ท้าทายด้วยสิ่งใหม่
ถ้าเชื่อว่า ชีวิตคือการลองผิดลองถูก การเปลี่ยนอาชีพให้ตัวเองอีกครั้ง ก็เป็นเรื่องใหม่ที่ อนุตรา อึ้่งสุประเสริฐ อดีตบรรณาธิการนิตยสารเนชั่นจูเนียร์ แม้จะเป็นคนหนึ่งที่รักอาชีพขีดๆ เขียนๆ แต่เมื่อทำงานมานานกว่า 18 ปี เธอก็เลือกที่จะออกมาสร้างงานของตัวเอง ทั้งๆ ที่ในช่วงแรกไม่รู้ว่าจะทำอะไร

“เราเป็นคนชอบคิดโน้น คิดนี่ ตลอดเวลา เป็นคนที่มีโครงการเยอะ แต่ไม่เคยลงมือทำ เพราะต้องทำงานประจำ ไม่มีเวลา พอตัดสินใจลาออกจากงาน เพราะไม่สนุกแล้ว เราก็คิดให้คนอื่นมาเยอะแล้ว ตอนออกจากงานก็ไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าว่าจะทำอะไร อาศัยเป็นคนชอบคิด ชอบฝันอยู่แล้ว ไม่ได้มีโจทย์ตายตัว และไม่ได้มีโจทย์ในใจว่าอยากทำอะไร ตอนนั้นก็คิดไว้หลายอย่าง”

หลายอย่างที่เธอคิดไว้มาลงตัวที่การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและผลิตภัณฑ์สำหรับผิว ทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ในการผลิตเลย แต่เลือกที่จะทดลองทำ โดยอาศัยการเรียนรู้เพิ่มเติม ประกอบกับไลฟ์สไตล์ในชีวิตของเธอไม่ชอบใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่ขายตามห้างสรรพสินค้า เพราะใช้แล้วผิวเกิดอาการแพ้ ก็เลยต้องหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการเข้าเวิร์คชอป

“พอเริ่มลงมือทำ ก็รู้จักวัตถุดิบมากขึ้น เราเริ่มจากทำสบู่ด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เพราะเราคิดว่า คงไม่เป็นผู้ผลิตเอง น่าจะทำแบรนด์ที่มีสูตรผสมของเราเอง โดยหาผู้ผลิตที่ถูกใจและเข้าใจสิ่งที่เราทำ ” อนุตรา เล่าถึงการพัฒนาสินค้า ซึ่งการสร้างงานเอง ต้องใช้ทุกอย่างที่เธอมี ทั้งความอดทน ความพยายาม และสู้ไม่ถอย บางครั้งก็รู้สึกว่ามันยากมาก

“สิ่งสำคัญในการสร้างงานเอง ต้องมีวินัย แม้เงินจะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การปั้นแบรนด์สินค้าให้มีรายได้ ในช่วงแรกๆ เราเองก็ต้องทำงานอื่นด้วย เพื่อให้มีรายได้ จนกว่าจะสร้างงานสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก ตอนนี้กิจการอยู่ได้แล้ว เทียนหอมของเราขายในญี่ปุ่น ส่วนผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิว ก็มีการลองทำตลาดในมาเลเซีย และมีร้านอยู่ที่เอเชียทีค เราคิดว่าการเริ่มต้นสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาไม่ใช่เรื่องง่าย เราอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตัวเอง”

การสร้างงานให้ตัวเอง เธอบอกว่า ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะผลิตภัณฑ์มีอยู่มากมายในโลก เวลาทำออกมาก็ต้องแตกต่างจากคนอื่น และน่าสนใจ

“สิ่งสำคัญคือ ทุกอย่างเรียนรู้ได้หมด แม้จะทำธุรกิจไม่เป็น ก็ลองได้ บางคนอาจเริ่มจากช่องว่างทางการตลาด แต่ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่มีอะไรถูกหรือผิด ตัวเราเองก็ไม่ได้เริ่มจากใช้การตลาดนำ ไม่ได้สนใจว่า ลูกค้าคือใคร”

โจทย์ของเธออาจต่างจากคนอื่น เธอบอกว่า การสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เป็นความชอบส่วนตัว และคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่เหมือนใคร สำคัญต้องมีคุณภาพ แต่การลงทุนไม่ว่าจะกิจการแบบไหน ก็เสี่ยงทั้งนั้นเหมือนการเล่นหุ้น ถ้าไม่เจ๋ง ก็เจ๊ง ตอนที่ไม่มีรายได้ ก็มีความกดดันสูง ครอบครัวก็มองว่า ถ้าทำแล้วไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น ก็เสียเวลาเปล่าๆ

บางคนอาจถอดใจไปแล้ว แต่เธอก็สามารถปลุกปั้นสร้างชื่อ หจก.เดลี บอดี เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมของตัวเอง เธอบอกว่า ทุกอย่างไม่ง่ายเลย แต่พอเดินมาถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้ว่า ต้องอดทน คุณต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ไม่ว่ารายละเอียดลูกค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง มันจะดีขึ้นเอง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับโอกาส และความคิดที่เราจูนกับคนอื่นได้

"ตอนนั้นเราก็คิดว่า ทำมาสองปีแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องทำอะไรสักอย่าง จนมีร้านที่เอเชียทีค ก็เพื่อวัดว่า เราจะทำกิจการต่อหรือเลิกกิจการ ถ้าทำไม่รุ่งก็เลิกเลย เราต้องตั้งเป้าหมายว่า แค่ไหนพอ แต่ไม่ใช่ว่ายอมแพ้ก่อน
หลักๆ ในการสร้างงานสำหรับเธอ คือ ความอดทน ความขยัน ความคิดสร้างสรรค์ และใช้ทุกกระบวนท่าในชีวิต เธอบอกว่า 
"ทุกอย่างต้องงัดออกมาใช้ ถ้าไม่ดี ก็ต้องหาตัวช่วย แต่ตอนนี้รอดแล้ว กำลังหาโอกาสขยายต่อไป"

ไม่ต่างจากที่ ขวัญหทัย ตัณฑ์เกยูร ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า คนเราต้องมองให้เห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ สร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเริ่มจากสิ่งที่เขามีอยู่ ต้องหาความต่างในความเหมือนในสินค้านั้นๆ จึงจะสามารถสร้างความน่าสนใจและรายได้ให้ชีวิต

ต้องรู้ใจตัวเอง 
การจะเลือกงานที่ชอบและใช่สำหรับชีวิต ก็ต้องถามใจตัวเองว่า มีความถนัดและชอบงานประเภทไหน พจนารถ ซีบังเกิด หรือโค้ชจิมมี่ ประธานบริษัท Jimi The Coach Co., Ltd. บอกว่า ก่อนออกจากงานต้องถามตัวเองก่อนว่า ชีวิตคุณต้องการอะไร ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราเกิดมาเพื่อการใด ถ้าเราค้นหาได้ว่า ชีวิตเราเกิดมาเพื่อการใด เราจะทำอาชีพเพื่อการนั้นได้อย่างมีความสุข

"บางคนเกิดมาเพื่อเป็นผู้สร้าง ก็ต้องค้นหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์สิ่งนั้นออกมา อย่างการทำผลิตภัณฑ์โอท็อป ก็ต้องดูว่า ชุมชนของเรามีวัตถุดิบหรือทรัพยากรอะไร หรือถ้าเกิดมาเพื่อเป็นผู้ให้ จะให้อะไรล่ะ ถ้าอยากให้ทุกอย่างในชีวิต ก็อาจทำมูลนิธิ หรือเอาทักษะที่ติดตัวมาใช้ อาจให้ความรู้ แบ่งปันความคิด อันนี้คือ เกิดมาเพื่อเป็นผู้ให้ หรือเกิดมาเพื่อสนับสนุนผู้อื่น อาจออกมาทำออแกไนเซอร์"

หลักๆ เลยโค้ชจิมมี่ ย้ำว่า ต้องถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า "ฉันเกิดมาเพื่อทำอะไร" ถ้าหาไม่เจอ อาจหาโค้ชหรือเพื่อนร่วมคิดหรือแนะนำ และเราต้องรู้ด้วยตัวเองว่า มันดีสำหรับเรา ไม่ได้ดีเพราะคนในสังคมบอกว่าดี แล้วทำตามนั้น อย่างบางคนบอกว่า อายุมากแล้ว พอเกษียณก็อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อยากแบ่งปันความรู้ นั่นเป็นมาตรฐานที่คนในสังคมบอกหรือเปล่า หลักๆ คือ ต้องถามตัวเองก่อนว่า ชอบแบบนั้นหรือเปล่า

"การที่จะรู้ว่า เกิดมาเพื่อทำอะไร ถ้าเราหาเจอแล้ว ให้ตรวจสอบว่า ทำแล้ว อิ่มใจหรือมีความสุขไหม อันนี้เราวัดได้ด้วยตัวเอง พอรู้เช่นนั้นค่อยหาอาชีพที่เราสามารถทำได้ตลอดเวลา ถ้าเราทำแบบนั้นได้ ก็เหมือนเราหาพื้นที่วิ่งเล่น หรือเล่นเกมได้อย่างสนุกสนาน เป็นทักษะที่เราทำได้อย่างสบายๆ ใช้พลังงานและความพยายามน้อย แต่ผลที่ได้เต็มๆ "

นั่นเป็นสิ่งที่โค้ชจิมมี่แนะนำ คือ การรู้ใจตัวเอง ทำงานด้วยความรักและความมุ่งมั่น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วยากมาก 
"เพราะเราตกอยู่ในสังคมที่หล่อหลอมเราว่า ทำอย่างนี้ดี แต่เราต้องรู้ว่า ทำแล้วมีความสุขหรือไม่ "

"""""""""""""""""""""

ไม่มีสูตรสำเร็จ

แม้การสร้างงานด้วยตัวเองจะเป็นเรื่องยาก และไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ก็พอมีแนวทางที่จะเรียนรู้ได้บ้าง
“ความสร้างสรรค์ คือ คุณลักษณะที่นิยามความเป็นเผ่าพันธุ์โฮโมซาเปียนส์ ซึ่งก็คือ มนุษย์ยุคปัจจุบัน ศักยภาพในการสร้างสรรค์คือ สิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด การรับรู้คือ ตัวบ่งชี้ชีวิต ส่วนการคิดซึ่งเป็นการตระหนักเกี่ยวกับการรับรู้คือ ตัวบ่งชี้ความสร้างสรรค์ พวกเราต่างมีสัญชาตญาณการสร้างสรรค์ ที่ฝังอยู่และรับสืบทอดมาแต่กำเนิดในแบบเดียวกับสัญชาตญาณทางภาษาที่โนม ชอมสกีและสตีเฟน พิงเกอร์ ระบุไว้

สัญชาตญาณการสร้างสรรค์นั้นไม่ใช่อภิสิทธิ์เฉพาะของคนที่ทำงานบางสาขา เช่น ศิลปินและนักประดิษฐ์ หรืออภิสิทธิ์ของคนที่มีพรสวรรค์พิเศษ เช่น บุคคลอัจฉริยะหรือผู้เชี่ยวชาญ เราทุกคนต่างสร้างสรรค์ในแง่ที่ว่าเรามีจินตนาการเพื่อสร้างทางเลือกและมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งรอบตัว เราต่างสร้างสรรค์ เมื่อใดก็ตามที่เราทำตามความปรารถนาที่จะสร้างสิ่งสวยงาม”

.................
หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งจากหนังสือนิเวศของความสร้างสรรค์ : ที่ซึ่งการคิดกลายเป็นงานว่า ทุกคนต่างมีความสร้างสรรค์ เขียนโดย จอห์น ฮาวกินส์

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com
 
 
 
คุยกับ บก.คิดบวก ทัต ณ ฝั่งโขง

Other Articles

 
 
 
บทเพลงแห่งชีวิตและสายน้ำ
 
ร้านจำหน่าย เครื่องสังฆภัณฑ์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด ร้านจำหน่าย
เครื่องสังฆภัณฑ์
ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด
ตอบสนองคนยุคใหม่
เพื่อการทำบุญที่แท้จริง
 
เว็บไซต์แนะนำ
 
 
 

 
kidbuak.com
อาคารราชพฤกษ์ วิว ซอยบางแวก 32
(ซอยวัดกำแพง) แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160
โทร. 087-709-2333   E-mail: kidbuak59@hotmail.com
 
 
 
Satiti.com ฟรีสถิติ โค้ดสถิติ สถิติเว็บไซต์ ตัวอย่างสถิติ เว็บสถิติ จัดอันดับเว็บไซต์ ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซต์
Copyright 2011 kidbuak.com