วางแผนการเงิน … ง่ายนิดเดียว

วางแผนการเงิน ... ง่ายนิดเดียว

“การออมก่อนใช้จ่าย” และ “สำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน” เป็นเทคนิคง่ายๆ สำหรับผู้เริ่มต้นวางแผนการเงินด้วยตนเอง” – K-Expert Advice

“อยากเก็บเงินแต่ไม่เคยทำได้เลย มีวิธีไหนช่วยได้บ้างนะ…” อาจเป็นคำถามที่เคยได้ยินกันในหมู่เพื่อนฝูงที่มีความตั้งใจเก็บเงินกันอย่างจริงจัง การมีความคิดริเริ่มเช่นนี้เป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ เพราะการออมเงินนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของการวางแผนการเงินและนำไปสู่การอนาคตทางการเงินที่ดี บทความนี้มีวิธีง่ายๆ ให้ลองไปทำดู นอกจากจะช่วยให้ออมเงินได้มากขึ้นเร็วขึ้นแล้ว ก็ยังช่วยให้จัดการเงินออมที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยค่ะ

ขั้นแรกต้องเริ่มจาก การจดบันทึกรายรับรายจ่าย ก่อน… พอพูดถึงคำว่าจดบันทึกหรือทำบัญชีรายรับรายจ่าย ผู้อ่านก็อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและจุกจิก แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเรื่องยากแต่อย่างใด และเจ้าเรื่องจุกจิกนี่แหละจะช่วยให้เรารู้ว่าเงินที่เราหาได้มานั้นถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง บางคนอาจคิดในใจว่าฉันก็ไม่ได้ใช้เงินฟุ่มเฟือยอะไร ซื้อความสุขบ้างเป็นบางทีเท่านั้นเอง อันนี้ไม่ผิดค่ะ ซื้อความสุขบ้าง หาความบันเทิงบ้างตามโอกาสก็ถือเป็นเรื่องเหมาะสม การจดบันทึกรายรับรายจ่ายจะเป็นตัวบอกเราว่าเดือนนี้เราบันเทิงมากเกินไปรึยัง หรือว่าเดือนนี้เราไม่บันเทิงเอาซะเลย ส่วนจะจดบันทึกด้วยวิธีอะไรก็แล้วแต่ความชอบใจ จะจดลงกระดาษก็ได้ วิธีนี้อาจต้องใช้เครื่องคิดเลขช่วยคำนวณ หรือใครสะดวกใช้คอมพิวเตอร์ก็อาจเลือกบันทึกลงเป็นไฟล์ Excel ก็สะดวกดี ยิ่งสมัยนี้ วิทยาการก้าวหน้า โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ เค้าก็มีโปรแกรมให้ลงฟรีสำหรับไว้ใช้จดบันทึกกันอีกด้วยค่ะ

เมื่อรู้ว่าเราใช้จ่ายไปกับอะไรแล้ว ขั้นต่อไปก็ลองตั้งใจจะออมเงินให้ได้ตามเป้า เช่น เดือนนี้ฉันจะ ออมเงินให้ได้อย่างน้อย 20% ของรายได้ เมื่อกำหนดเช่นนี้แล้วก็ย้อนมาดูตัวเลขเงินออม ก็คือรายได้ลบรายจ่ายที่เราจดไว้นั่นแหละว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ มีรายการไหนที่เราพอจะประหยัดลงได้หรือเปล่า เรื่องนี้ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ แล้ว ก็ต้องลองเปลี่ยนนิสัยการจับจ่ายซักหน่อย จากเดิมที่เราเคยใช้เงินจับจ่ายใช้สอยซื้อความสุขไปในทันทีที่ได้เงินมา เหลือเท่าไหร่จึงค่อยเป็นเงินออม ก็ลองเปลี่ยนมาเป็น การออมก่อนที่จะใช้จ่าย ซึ่งเริ่มต้นก็ง่ายๆ แค่พอเงินเดือนออก ลองหักเงินอย่างน้อยสัก 20% เข้าบัญชีเงินออมไปก่อน ส่วนที่เหลือนั่นคือเงินที่เราจะนำไปใช้ได้ (แต่ก็ใช้ตามสมควรนะคะ พอเหลือเท่าไหร่ก็จะได้เป็นเงินออมเพิ่มอีก)

บางคนอาจจะรู้สึกว่าวิธี “ออมก่อนใช้” นี้ทำใจยากนิดนึง ก็ต้องบอกว่าสถาบันการเงินต่างๆ ในปัจจุบัน มีวิธีช่วยเราออมเงินด้วยนะคะ ผู้อ่านสามารถติดต่อธนาคารเพื่อสมัครใช้ บริการหักบัญชีอัตโนมัติ เพื่อนำเงินไปฝากในบัญชีฝากประจำแบบรายเดือนก็ได้ หรือเลือกใช้บริการ แผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ (Saving Plan) ซึ่งจะหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติเพื่อไปซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมก็ย่อมได้ เท่านี้การหักเงินอย่างน้อย 20% ก็ง่ายขึ้นแล้ว แถมไม่ต้องแก้ตัวด้วยว่าออมไม่ได้เสียทีเพราะไม่มีเวลาเอาเงินไปฝาก จริงไหมคะ?
แต่ก่อนจะออมเงินนี้ ต้องเช็คการเงินของเราเรื่องหนึ่งก่อนนะคะ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีหนี้สินระยะสั้นไม่ว่าจะด้วยไปใช้บริการสินเชื่อพร้อมใช้ หรือบัตรกดเงินสดทันใจ หรือบังเอิญไปเบิกเงินสดจากบัตรเครดิตบ้าง หรือจ่ายชำระหนี้บัตรเครดิตไม่เต็มจำนวนบ้าง ต้องระวังนิดนึงค่ะ เพราะธุรกรรมทางการเงินเหล่านี้คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงเลยทีเดียว อาจสูงถึงกว่า 20% ต่อปีเลยนะคะ ดังนั้น ก่อนที่เราจะออมเงินได้อย่างมีความสุข ขอแนะนำให้ จัดการกับหนี้สินระยะสั้นเสียก่อนแล้วค่อยเริ่มต้นออมเงิน ไม่อย่างนั้นแล้วภาระดอกเบี้ยจ่ายจะตามมาอีกมากมายเลยค่ะ

พอจ่ายหนี้สินระยะสั้นหมดแล้วก็เริ่มหันมาออมเงินได้ซะที ในเชิงของการวางแผนการเงินก็ขอแนะนำว่าให้จัดสรรเงินออมส่วนหนึ่งของเราในรูปของสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยงและแปลงเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น เงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งจะเรียกก้อนนี้ว่าเป็น “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หรือ Emergency Fund” เงินก้อนนี้มีวัตถุประสงค์เผื่อใช้ในยามฉุกเฉิน ถ้าเกิดอะไรที่ไม่คาดคิดขึ้นมา เช่น ตกงาน ต้องซ่อมรถยนต์ หรือซ่อมบ้าน เราก็จะมีเงินสำรองไว้แล้ว จะได้ไม่ต้องขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนหรือไปกู้หนี้ยืมสินมานั่นเองค่ะ สำหรับจำนวนเงินที่เหมาะสมนั้น โดยทั่วไปมักแนะนำให้มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินในสัดส่วนประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้เงินอยู่ประมาณเดือนละ 10,000 บาท ก็ควรจะกันเงินสำรองให้อุ่นใจไว้ประมาณ 60,000 บาท เป็นต้น

เห็นไหมคะว่าการวางแผนการเงินนั้นง่ายนิดเดียว ขอเพียงแค่มีความตั้งใจและมีวินัยที่จะทำเท่านั้นเองค่ะ บทความตอนต่อไปจะกล่าวถึงที่ว่า เมื่อเราเตรียมความพร้อมเพื่อความต้องการพื้นฐานด้วยการมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินครบแล้ว เราจะจัดการวางแผนการเงินเพื่อความพร้อมในด้านอื่นๆ อย่างไรต่อไปดี

ที่มา  http://k-expert.askkbank.com/KnowledgeResources/Articles/Pages/Invest_A028.aspx

 

Facebook Comments Box